รศ.นพ.ศิรชัย จินดารักษ์ อาจารย์ที่ปรึกษา
นพ.วีรกานต์ สถิตนิรามัย ผู้เรียบเรียง
วันที่ 27 เมษายน 2561
Introduction
Melanoma เป็นมะเร็งที่เกิดจากการแบ่งตัวของ melanocytes ที่ผิดปกติ ซึ่ง Melanoma เป็นมะเร็งที่พบได้มากที่ผิวหนัง แต่สามารถพบมะเร็งชนิดนี้ได้ที่เนื้อเยื่ออื่นๆ เช่น mucosa, uveal tract และ leptomeninges ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึง Cutaneous melanoma เท่านั้น
Malignant melanoma เป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับมะเร็งผิวหนังชนิดอื่นๆ ในอดีต melanoma พบได้ไม่บ่อย ในช่วงหลายทศวรรษมานี้พบอุบัติการณ์ของ melanoma เพิ่มมากขึ้นถึงประมาณปีละ 4-6% โดยจะพบมากในคนผิวขาว เช่น คนอเมริกัน ยุโรป หรือออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โดยข้อมูลในสหรัฐอเมริกาปี 2017 พบอุบัติการณ์ของมะเร็งชนิดนี้ถึง 87,110 คน โดยเป็นมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของมะเร็งทั้งหมด ซึ่งพบน้อยกว่า 5% ในมะเร็งผิวหนัง แต่ melanoma เป็นมะเร็งผิวหนังที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุดถึง 65% ในผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังทั้งหมด
มะเร็งผิวหนังในประเทศไทยพบได้บ่อย โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี 2010-2012 พบว่ามี age-specific incidence rate(ASR) เท่ากับ 3.9 ในผู้ชายและ 4.0 ในผู้หญิงต่อประชากร 100,000 คน และมีรายงานอุบัติการณ์ของมะเร็งผิวหนังชนิด cutaneous melanoma เท่ากับ 0.5 ในผู้ชาย และ 0.6 ในผู้หญิงต่อประชากร 100,000 คน
Etiology
cutaneous melanoma เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของ melanocytes ซึ่งอยู่ในชั้น basal layer ของ epidermis โดย melanocyte มีหน้าที่สร้าง melanin ซึ่งเป็นสารที่ช่วยดูดซับรังสี UV ที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ผิวหนัง โดยรังสี UV จะทำให้เกิดความเสียหายให้กับ DNA strands ในเซลล์ผิวหนัง ถึงแม้ว่าในภาวะปกติร่างกายจะสามารถซ่อมแซม DNA strands ที่เสียหายจากรังสี UV ได้ แต่ด้วยปัจจัยเสี่ยงต่างๆสามารถทำให้เกิดความผิดพลาดในกระบวนการซ่อมแซม DNA strands ที่เสียหาย ซึ่งจะทำให้เกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติของ melanocytes ตามมา
Risk factor
ปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังชนิดนี้อาจแบ่งได้เป็น environmental factors และ host factors
UV exposure ทั้งจากแสงแดดหรือ tanning salon เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิด melanoma แต่เป็นปัจจัยที่สามารถป้องกันได้ โดยข้อมูลพบว่าการได้รับรังสี UV แบบ intense intermittent มีโอกาสเสี่ยงในการเกิด melanoma มากกว่าการได้รับรังสีแบบ chronic continuous นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าหากมีประวัติผิวหนังไหม้จากแสงแดดทั้งในตอนเด็กและตอนโต เฉพาะอย่างยิ่งก่อนอายุ 35 ปีจะเพิ่มโอกาสการเกิด melanoma เกือบถึง 2 เท่าตัว
Chronic immunosuppression โดยจะสามารถพบ melanoma ได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรค AIDS, chronic lymphocytic leukemia, non-Hodgkin’s lymphoma หรือ organ transplantation
Family history ผู้ป่วยที่มี first-degree relative 1 คนเป็น melanoma จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็น melanoma เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า และหากมี first-degree relative 2 คนเป็น melanoma จะมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นถึง 9 เท่า
Genetic susceptibility หากมีประวัติ melanoma ในครอบครัว จะสามารถพบความผิดปกติของยีน CDKN2A(or p16) ได้บ่อยซึ่งสามารถถ่ายทอดแบบ autosomal dominant ได้ นอกจากนี้ในครอบครัวที่มีความผิดปกติของยีน BRCA2 ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและรังไข่ จะมีโอกาสเกิด melanoma เพิ่มขึ้น 3 เท่า และในผู้ป่วยมีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น Xeroderma pigmentosum มีโอกาสเสี่ยงเกิด melanoma เพิ่มขึ้นถึง 1,000 เท่า
Phenotype characteristic กลุ่มคนบางกลุ่มมีความเสี่ยงที่จะเกิด melanoma มากขึ้น เช่น คนที่มีผมสีแดง มีผิวขาว มีกระจำนวนมากและมีดวงตาสีอ่อน
Common nevi จำนวนของ nevus ในร่างกายที่มากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด melanoma มากขึ้น โดยข้อมูลพบว่าหากผู้ป่วยมีจำนวน nevus มากกว่า 100 จุด จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด melanoma ถึง 7 เท่า
Atypical(dysplastic) nevus ซึ่งวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกาย โดยมีขนาดอย่างน้อย 6 mm. ลักษณะผิวเป็น macular surface ขอบเขตไม่ชัดเจน สีไม่สม่ำเสมอ โดยข้อมูลพบว่าความเสี่ยงของการเกิด melanoma มีความสัมพันธ์กับจำนวนของ atypical nevus ที่มากขึ้น หากมี atypical nevus 5 ตำแหน่ง จะเพิ่มความเสี่ยงถึง 6 เท่า
Congenital melanocytic nevi(CMN) ในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเกิด melanoma ได้โดยความเสี่ยงในการเกิด melanoma จะมากขึ้นตามขนาดของ CMN โดยข้อมูลพบว่าหาก CMN ขนาดใหญ่มากกว่า 20 cm ในด้านที่กว้างที่สุด มี lifetime risk ในการเกิด melanoma ได้น้อยกว่า 10% และมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติถึง 52-465 เท่า แต่หาก CMN ขนาดไม่เกิน 20 cm. จะมีโอกาสเกิด melanoma เพียง 0-5% และมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ 10 เท่า