History

นับตั้งแต่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เริ่มเปิดทำการในปี พ.ศ.2457 แผนกผ่าตัดเป็น 1 ใน 5 แผนกแรกของโรงพยาบาลได้แก่ แผนกผ่าตัด แผนกตรวจคนเจ็บไข้ แผนกรักษาพยาบาล แผนกบัคเตรี และแผนกคลังยา เมื่อเริ่มเปิดโรงพยาบาล มีอาคารที่เป็นตึก 4 หลัง และอาคารไม้ 2 หลัง ดังนี้

ตึกที่ว่าการ เป็นสถานที่ตรวจโรคและประกอบการค้นเชื้อโรค

    1. ตึกที่ทำการผ่าตัด
    2. ตึกพาหุรัด
    3. ตึกวชิรุณหิศ
    4. โรงครัวชั่วคราว
    5. โรงซักฟอกชั่วคราว

ตึกที่ใช้สำหรับผ่าตัด ปัจจุบันเป็นฝ่ายการเงินของโรงพยาบาล แผนกศัลยศาสตร์ใช้ตึกนี้สำหรับผ่าตัดผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงพยาบาล

ตึกที่เกี่ยวข้องกับแผนกผ่าตัดซึ่งสร้างในภายหลังได้แก่ ตึกปัญจมราชินี (พ.ศ.2459) ตึกจักรพงษ์ (พ.ศ.2466) ตึกอาทร (พ.ศ.2473) ต่อมาจึงสร้างตึกอื่นๆ จนครบตามแผนในปี พ.ศ.2493 และต่อมามีการสร้างตึกจงกลนีวัฒนวงศ์ ชั้นล่างเป็นสำนักงานภาควิชาศัลยศาสตร์ และชั้นบนเป็นหอผู้ป่วย จนกระทั่งมีการสร้างตึกสิรินธร ขึ้นบริเวณตึกพาหุรัดเดิม และแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2523 สำนักงานภาควิชาศัลยศาสตร์ ห้องผ่าตัด ICU ศัลยกรรม และภาควิชาวิสัญญีวิทยา ได้ย้ายมาอยู่ที่นี่จวบจนปัจจุบัน

สำหรับศัลยแพทย์ในยุคก่อตั้งถือได้ว่า นายแพทย์ เอฟ เซเฟอร์ ผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นศัลยแพทย์คนแรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่ท่านเสียชีวิตตั้งแต่ก่อนเปิดโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ พันตรี นายแพทย์หลวงศักดาพลรักษ์ (เสก ธรรมสาโรจ) มารั้งตำแหน่งผู้อำนวยการแทน ในระยะแรกก่อนการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีหัวหน้าแผนกศัลยกรรมตามลำดับ ดังนี้

  1. หม่อมเจ้าวัลภากร วรวรรณ
  2. นายแพทย์หลวงสุเวชศุภกิจ
  3. พันโทหลวงพิศักดิ์ศัลยกิจ
  4. พลตรีพระยาดำรงแพทยคุณ

ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ 
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

เมื่อมีการจัดตั้ง “คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” และเปิดภาคเรียนจริงในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2490 มีภาควิชารวม 10 ภาค และภาควิชาศัลยศาสตร์ เป็นภาควิชาหลัก โดยมี พลตรีพระยาดำรงแพทยาคุณ เป็น คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์คนแรก และมีแพทย์ประจำแผนกอีก 6 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ พันตรีประจักษ์ ทองประเสริฐ, นายแพทย์ชุบ โชติกเสถียร, นายแพทย์สมาน มันตาภรณ์, นายแพทย์พงษ์ ตันสถิตย์, นายแพทย์เฉลี่ย วัชรพุกก์ และ นายแพทย์เล็ก ณ นคร มีเตียงรับผู้ป่วย 93 เตียง, ห้องผ่าตัด 5 ห้อง และเตียงผ่าตัด 7 เตียง ได้บริการประชาชนในด้านรักษาพยาบาลและผ่าตัดโรคทางศัลยกรรมทั้งหมด โดยยังไม่แบ่งเป็นหน่วยสาขาวิชาต่างๆ นั่นคือ ศัลยแพทย์ทุกคนต้องทำทั้งศัลยกรรมทั่วไป และศัลยกรรมอื่นๆ เช่น ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์, ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ, กุมารศัลยกรรม รวมทั้งเป็นวิสัญญีแพทย์ด้วย

ในปี พ.ศ.2500 ภาควิชาศัลยศาสตร์ได้เริ่มแบ่งหน่วยงานของภาควิชาฯ ออกเป็นหน่วยย่อยต่างๆ ได้แก่ หน่วยศัลยศาสตร์ทั่วไป (ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 หน่วย คือ ศัลยศาสตร์ทั่วไป 1 และ ศัลยศาสตร์ทั่วไป 2), หน่วยศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา (Urology), หน่วยกุมารศัลยศาสตร์ (Pediatric Surgery), หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอกหลอดเลือดและหัวใจ (Cardiovascular and Thoracic Surgery), หน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้าง (Plastic and Reconstructive Surgery), หน่วยประสาทศัลยศาสตร์ (Neurological Surgery) และหน่วยศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ซึ่งต่อมาได้มีการแยกไปเป็นภาควิชาออร์โธปิดิกส์ และเวชศาสตร์ฟื้นฟู เมื่อปี พ.ศ.2507 เช่นเดียวกับหน่วยวิสัญญีวิทยา ซึ่งก็ได้แยกออกเป็นภาควิชาวิสัญญีวิทยา เมื่อปี พ.ศ.2508 และหน่วยศัลยศาสตร์ทั่วไปก็ได้แบ่งย่อยออกเป็น 4 หน่วย คือ ศัลยศาสตร์ทั่วไป 1, ศัลยศาสตร์ทั่วไป 2, ศัลยศาสตร์ทั่วไป 3 และศัลยศาสตร์ทั่วไป 4 การดำเนินงานของภาควิชาฯ ได้ใช้โครงสร้างเช่นนี้ตลอดมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2541 จึงได้จัดตั้งหน่วยศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal Surgery) เพิ่มขึ้นอีกหน่วยหนึ่ง


ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2510 ได้มีการโอนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาอยู่ในสังกัดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง และเปลี่ยนชื่อเรียกว่า “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และภาควิชาศัลยศาสตร์ ในสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลี่ย วัชรพุกก์ เป็นหัวหน้าภาควิชา

ทางภาควิชาได้เริ่มเปิดรับฝึกอบรมแพทย์-ประจำบ้านอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก โดยได้รับการรับรองจากแพทยสภา เมื่อปี พ.ศ.2515 เป็นปีแรก ได้เปิดฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงปัจจุบันมีการจัดการฝึกอบรมรวม 7 สาขาได้แก่ ศัลยศาสตร์ทั่วไป, กุมารศัลยศาสตร์, ประสาทศัลยศาสตร์, ศัลยศาสตร์ทรวงอก, ศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้าง, ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และ ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา

นอกจากภาระกิจในการจัดการเรียนการสอนนิสิตระดับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตในส่วนของภาควิชาศัลยศาสตร์ การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยศาสตร์ 7 สาขาแล้ว ภาควิชาฯ ยังให้การบริการผ่าตัดรักษาพยาบาลด้านศัลยกรรมซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประกอบการรักษา รวมถึงการค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่และเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาวิธีการรักษา นอกจากนั้น ภาควิชายังได้ให้บริการในแง่ของการเผยแพร่ความรู้ด้านศัลยศาสตร์แก่ประชาชนทั่วไปอีกด้วย เนื่องจากภาควิชาศัลยศาสตร์มีประวัติอันยาวนานโดยที่หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ร่วมกับคณาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกคนได้เสียสละและอุทิศเวลาให้กับการทำงานของภาควิชาฯ เพื่อให้สมกับปณิธานและพันธกิจของภาควิชาฯ ทุกหน่วยในภาควิชาฯ ได้มีการพัฒนาเป็นอย่างมากในด้านการสอน, การวิจัย และการบริการทางวิชาการแก่สังคม จนมีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ยอมรับโดยทั่วไปทั้งภายในประเทศและต่างประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้คณาจารย์ของภาควิชาฯ จะยังคงพัฒนาผลงานทางวิชาการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการและประโยชน์สูงสุดต่อวงการสาธารณสุขของประเทศและสังคมโดยรวม และเพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคมไทย เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณผู้กระทำคุณงามความดีอันยังประโยชน์และทำชื่อเสียงให้แก่ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นตัวอย่างให้คณาจารย์ของภาควิชาฯ ในปัจจุบันและในอนาคตได้สืบทอดเจตนารมย์ ภาควิชาฯ ได้จัดทำเป็น หอเกียรติคุณ ณ ตึกสิรินธร ชั้นล่าง เพื่อจารึกเกียรติประวัติและผลงานของท่านเหล่านี้ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเป็นแบบอย่างและระลึกถึงตลอดไป

ศัลยแพทย์และผู้อำนวยการคนแรก
ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ศัลยแพทย์คนแรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชื่อ นายแพทย์เอฟ เซเฟอร์ เป็นชาวเมืองโอรินสกะ ประเทศเยอรมนี เคยเป็นหัวหน้าแผนกผ่าตัดโรงพยาบาลกองทัพรักษาพระองค์ของกษัตริย์ปรัสเซีย (เยอรมนี) เข้ามารับราชการในประเทศสยาม เป็นที่ปรึกษากรมแพทย์สุขาภิบาลทหารบก

ในเดือนเมษายน พ.ศ.2457 ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารบกกลาง ซึ่งตั้งทำการในสถานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านถึงแก่กรรมเนื่องจากติดโรคระบาดขณะผ่าตัด เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2457 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพียง 15 วัน ท่านเป็นผู้วางรายละเอียดเรื่องการก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยให้แก่โรงพยาบาล ได้แก่ เครื่องฉายรังสีรอนท์เก้น ซึ่งถือเป็นเครื่องแรกๆ ของประเทศไทย ก่อนโรงพยาบาลอื่นๆ นับสิบปี เครื่องแช่น้ำไฟฟ้า การตรวจเชื้อบัคเตรี การทำและจำหน่ายแว่นตา รวมถึงการมีธาตุเรดิอุ่ม (แร่เรเดียม) ไว้ใช้